พฤษภาคม 22, 2024

ข่าวเศรษฐกิจ ข่าวหุ้น การเงิน การลงทุน ตลาดคริปโต ล่าสุดทั้งในไทยและทั่วโลก

”เฟซบุ๊ก-กูเกิล-แอมะซอน” ยังสบายดี แม้มีกระแสให้ใช้มาตรการต่อต้านการผูกขาดเล่นงานบริษัทเหล่านี้

พวกบริษัทเทคโนโลยีระดับบิ๊กเบิ้มทั้งหลายในสหรัฐฯ กำลังเจอแรงกดดันมากขึ้นเรื่อยๆ หน่วยงานกำกับตรวจสอบไม่ว่าในวอชิงตันหรือที่อื่นๆ ต่างส่งสัญญาณที่จะออกกฎระเบียบอันเข้มงวดกวดขันกว่าเดิม ซึ่งนักวิเคราะห์บอกว่าสามารถนำไปสู่การตั้งข้อหาแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่เหล่านี้มีพฤติการณ์ผูกขาด และต้องแตกตัวออกเป็นกิจการขนาดย่อมลงหลายๆ แห่งซึ่งถูกห้ามไม่ให้เกี่ยวข้องกัน

อย่างไรก็ตาม เราจะแทบไม่รู้สึกถึงภัยคุกคามอันน่าสะพรึงนี้เลย ถ้าหากดูไปที่ราคาหุ้นของบิ๊กเทคเหล่านี้

ระยะไม่กี่อาทิตย์ที่ผ่านมา ไม่ว่าหุ้นของ แอปเปิล, เฟซบุ๊ก, แอมะซอน, ตลอดจน แอลฟาเบต ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ กูเกิล ต่างพุ่งโด่งอยู่แถวๆ ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์กันทั้งนั้น โดยได้แรงส่งจากยอดขายและกำไรที่ขึ้นพรวดสืบเนื่องจากได้แรงขับดันจากวิถีชีวิต “นิวนอร์มัล” ยุคโรคระบาดใหญ่โควิด-19 รวมทั้งทำให้บิ๊คเทคเหล่านี้สามารถขยายฐานะครอบงำของพวกตนเหนือภาคเศรษฐกิจสำคัญมากขึ้นไปอีกด้วยซ้ำ

คณะบริหารไบเดนนั้นเพิ่งส่งสัญญาณออกมาว่าจะมีการออกกฎระเบียบออกมาคุมเข้มยิ่งขึ้น ด้วยการแต่งตั้งนักวิพากษ์วิจารณ์บิ๊กเทคหลายราย ให้เ¬¬ข้าไปนั่งในคณะกรรมาธิการการค้าสหรัฐฯ (Federal Trade Commission)

รวมทั้งมีการพูดจาให้ความเห็นกันอย่างแข็งกร้าว ตลอดจนมีการฟ้องร้องคดีต่อต้านการผูกขาดในสหรัฐฯและในยุโรป ขณะที่สมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯหลายรายทำท่าต้องการออกมาตรการเพื่อทำให้ง่ายยิ่งขึ้นที่จะบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการผูกขาด แต่สิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็ล้มเหลวไม่สามารถกัดกร่อนแรงโมเมนตัมของบริษัทเทคยักษ์ใหญ่ได้

หากแจกแจงกันเป็นรูปธรรม พวกนักวิพากษ์บิ๊กเทคในสหรัฐฯและในยุโรป เรียกร้องต้องการทำให้ แอปเปิล และ กูเกิล คลายการควบคุมตลาดแอปออนไลน์ของพวกตนเอาไว้อย่างเหนียวแน่นเช่นปัจจุบัน, ให้มีการแข่งขันกันมากขึ้นในตลาดโฆษณาทางดิจิตอลซึ่งเวลานี้ถูกครอบงำโดย กูเกิล และเฟซบุ๊ก, และให้พวกผู้ขายที่เป็นคนนอก สามารถเข้าถึงแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซ ของแอมะซอน ได้ดีขึ้นกว่าเก่า

มีคดีฟ้องร้องคดีหนึ่งซึ่งถูกศาลชั้นต้นยกฟ้องไปแล้ว ทว่ากำลังอยู่ในกระบวนการยื่นฟ้องกันอีกครั้ง โดยมีข้อเรียกร้องบังคับ เฟซบุ๊ก ให้ต้องตัดแยกเอาแพลตฟอร์ม อิสสตาแกม และ วอตส์แอปป ของตนออกมาเป็นบริษัทต่างหากที่ไม่อยู่ในความควบคุมของเฟซบุ๊ก ขณะเดียวกันก็มีนักเคลื่อนไหวและสมาชิกรัฐสภาบางคนกำลังกดดัน ให้ยักษ์ใหญ่เทคทั้ง 4 รายนี้ ต้องแตกออกเป็นหลายๆ บริษัทขนาดย่อมๆ ลงมา

ปัจจุบันทั้ง 4 รายนี้ต่างมีมูลค่าตามราคาหลักทรัพย์ในระดับสูงกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์กันทั้งนั้น โดยที่ แอปเปิล อยู่สูงกว่าหลัก 2 ล้านล้านดอลลาร์ด้วยซ้ำ สำหรับ แอลฟาเบต ราคาหุ้นสูงขึ้นราว 80% จากระดับเมื่อ 1 ปีที่แล้ว ขณะที่ เฟซบุ๊ก สูงขึ้นเกือบ 40% และ แอปเปิล เกือบๆ 30%

ทั้งนี้มีบิ๊กเทคสหรัฐฯรายหนึ่งที่อาจจะถือเป็นข้อยกเว้น ได้แก่ ไมโครซอฟท์ ซึ่งมีมูลค่าตามราคาตลาดอยู่ที่ราว 2 ล้านล้านดอลลาร์ แต่รอดพ้นการถูกติดตามสอดส่องเรื่องผูกขาดไปได้เป็นส่วนใหญ่ ถึงแม้บริษัทนี้ได้รับประโยชน์อย่างมหาศาลจากแนวโน้มที่โลกก้าวไปสู่คลาวด์คอมพิวติ้ง ก็ตามที

สำหรับรายอื่นๆ แล้ว การเติบโตขยายตัวอย่างพุ่งพรวด มีแต่เป็นทำให้เจอเสียงร้องเรียนดังขึ้นเรื่อยๆ ว่า บริษัทยักษ์แข็งแกร่งที่สุดเหล่านี้กำลังขยายฐานะการครอบงำตลาดของพวกตน และบีบคั้นเล่นงานบรรดาคู่แข่ง

อย่างไรก็ดี พวกนักวิเคราะห์บอกว่า กว่าที่จะมีมาตรการแข็งกร้าวจริงจังใดๆ ออกมา ไม่ว่าจะเป็นการบังคับใช้ระเบียบกฎหมายที่มีอยู่แล้ว หรือการออกกฎหมายใหม่ๆ ก็ตามที คงต้องใช้เวลาเป็นปีๆ กว่าที่จะดำเนินการได้ แล้วยังจะต้องถูกบิ๊กเทคเหล่านี้ต่อสู้ทางกฎหมายกันอีก

สิ่งแวดล้อมที่กำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว

“การบังคับให้บริษัทเหล่านี้ต้องแตกออกเป็นบริษัทย่อมๆ ลงมา กำลังกลายเป็นสิ่งที่เกือบเป็นไปไม่ได้เสียแล้ว” เป็นคำรำพึงของ แดเนียล นิวแมน นักวิเคราะห์แห่ง ฟูทูรุม รีเสิร์ช โดยชี้ว่า เนื่องจากจะทำเช่นนั้นได้ จำเป็นจะต้องเปลี่ยนแปลงแก้ไขพวกกฎหมายต่อต้านการผูกขาดที่เป็นปัญหาถกเถียงกันอยู่ด้วย

นิวแมนบอกว่า ผลลัพธ์ที่น่าจะออกมามากกว่าก็คือ จะมีการเรียกค่าปรับจำนวนหลายพันหลายหมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งบริษัทเหล่านี้สามารถแบกรับได้อย่างง่ายดาย ขณะที่พวกเขาปรับปรุงดัดแปลงโมเดลธุรกิจของพวกเขาให้เข้ากันได้กับวิธีแก้ปัญหาที่ทางการกำหนดกันออกมา ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

“บริษัทเหล่านี้มีทรัพยากรมากกว่าและมีความรู้ทางโนวฮาวสูงกว่าพวกหน่วยงานกำกับตรวจสอบ” เขากล่าวต่อ

แดน ไอฟ์ส แห่ง เวดบุช ซีเคียวริตีส์ เห็นเช่นกันว่า จะใช้มาตรการต่อตานการผูกขาดใดๆ คงจะต้องมีการแก้ไขกฎหมายกันเสียก่อน ซึ่งไม่น่าเกิดขึ้นได้ในภาวะที่รัฐสภาสหรัฐฯแตกแยกกันขนาดนี้

“จนกว่าพวกนักลงทุนจะเริ่มมองเห็นว่ามีฉันทามติบางอย่างในเรื่องที่จะมีการแก้ไขระเบียบกฎหมายในแง่มุมเกี่ยวกับการต่อต้านการผูกขาดนั่นแหละ ไม่ยังงั้นก็จะรู้สึกกันว่าความเสี่ยงยังจะถูกสกัดเอาไว้ได้ และนักลงทุนก็จะมองเห็นแต่ไฟเขียวให้เข้าซื้อหุ้นเทค” เขาแจกแจง

ปัจจัยอื่นๆ ซึ่งกำลังสนับสนุนหุ้นบิ๊กเทค ยังมีอาทิ แนวโน้มการปรับตัวหันไปใช้คลาวด์คอมพิวติ้งกันอย่างขนานใหญ่ การที่กิจกรรมทางออนไลน์นั้นเปิดทางให้พวกเพลเยอร์ที่แข็งแรงที่สุดเป็นฝ่ายได้ประโยชน์ ตลอดจนการที่ในจีนมีการเล่นงานกิจการเทคโนโลยีขนาดใหญ่ของแดนมังกรเอง

“การที่จีนเล่นงานในทางกฎระเบียบคราวนี้มีขนาดขอบเขตที่ใหญ่โตมโหฬารมาก จึงเป็นการขับดันพวกนักลงทุนให้ออกมาจากเทคจีน หันมาหาเทคสหรัฐฯ” ไอฟ์ส บอก

“ถึงแม้ในสหรัฐฯก็มีความเสี่ยงเรื่องกฎระเบียบเหมือนกัน แต่มันน้อยกว่ากันนักเมื่อเปรียบเทียบกับการเล่นงานที่เรากำลังเห็นจากปักกิ่ง”

การกำกับตรวจสอบตามไม่ทัน “บิ๊กเทค”

นักวิเคราะห์คนอื่นๆ ชี้ไปที่เรื่องบริษัทเทคยักษ์สหรัฐฯ มีการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วในการปรับปรุงดัดแปลงโมเดลธุรกิจของพวกเขา เปรียบเทียบกับความพยายามในการกำกับตรวจสอบพวกเขาเหล่านี้ ซึ่งเดินไปอย่างเชื่องช้า

ตัวอย่างเช่น เฟซบุ๊ก กำลังปรับตัวให้เข้ากับเงื่อนไขต่างๆ ที่กำลังเปลี่ยนไป ด้วยการประกาศเดินหน้าเข้าสู่ “เมตาเวิร์ส” (Metaverse) ซึ่งมุ่งเสนอประสบการณ์แบบเสมือนจริงบวกกับประสบการณ์จริงที่ได้รับการขยายให้กว้างขวางยิ่งขึ้นไปอีก อาลี โมการาบี แห่ง มอร์นิ่งสตาร์ กล่าว

โมการาบีบอกอีกว่า การที่เฟซบุ๊กรวบรวมข้อมูลได้อย่างกว้างขวางจากยูสเซอร์ 2,500 ล้านรายของตนอยู่แล้ว ทำให้บริษัทมีความสามารถที่จะต้านทานการโจมตีเล่นงานทางกฎระเบียบเช่นนี้ได้

นักวิเคราะห์ผู้นี้ กล่าวในรายงานส่งลูกค้าเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคมว่า การใช้เรื่องการต่อต้านการผูกขาด ตลอดจนกฎระเบียบอื่นๆ ถือว่าเป็นการคุกคามทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้ของ เฟซบุ๊ก ซึ่งก็คือ ข้อมูล

อย่างไรก็ตาม การออกข้อจำกัดเพิ่มมากขึ้นในเรื่องการเข้าถึงข้อมูลและการใช้ข้อมูล ย่อมจะต้องบังคับใช้กับทุกๆ บริษัท ไม่ใช่แค่เฟซบุ๊กเท่านั้น

อีริก เซาเฟิร์ต นักวิเคราะห์อิสระ เห็นด้วยกับเรื่องนี้และสำทับว่า ระเบียบกฎหมายที่เปลี่ยนแปลงไปจะมีผลกระทบสำคัญต่อธุรกิจของเฟซบุ๊กก็จริง แต่ด้วยขนาดอันมหึมาของเฟซบุ๊ก และแนวโน้มการเติบโตของการโฆษณาทางดิจิตอล ย่อมเพียงพอที่จะรองรับความเสียหายในเรื่องนี้ได้ และดังนี้น “เหมืองทองของเฟซบุ๊กจึงยังคงห่างไกลจากการเหือดแห้งนักหนา”