ราคาน้ำมันปรับขึ้นมากกว่า 4% ในวันพุธ (21 ก.ค.) ได้แรงหนุนจากแรงช้อนซื้อต่อเนื่อง แม้พบคลังปิโตรเลียมสำรองสหรัฐฯ เพิ่มขึ้้นผิดคาด ส่วนวอลล์สตรีทปิดบวก 2 วันติด ตามรายงานผลประกอบการที่แข็งแกร่งของบริษัทจดทะเบียน ขณะที่ทองคำขยับลงพอสมควร
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส อินเตอร์มีเดียต หรือไลต์สวีตครูด งวดส่งมอบเดือนสิงหาคม เพิ่มขึ้น 2.88 ดอลลาร์ ปิดที่ 70.30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ด้านเบรนต์ทะเลเหนือลอนดอน งวดส่งมอบเดือนกันยายน เพิ่มขึ้น 2.88 ปิดที่ 72.23 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ตลาดน้ำมันฟื้นตัวต่อเนื่องหลังจากร่วงลง 7% ในวันจันทร์ (19 ก.ค.) จากกรณีที่โอเปกพลัสเตรียมเพิ่มอุปทาน 400,000 บาร์เรลต่อวัน ตั้งแต่เดือนสิงหาคมไปจนถึงเดือนธันวาคม
ราคาน้ำมันฟื้นตัวในวันพุธ (21 ก.ค.) แม้คลังน้ำมันดิบสำรองของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม บ่งชี้อุปสงค์อ่อนแอ โดยรายงานของสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานแห่งสหรัฐฯ (อีไอเอ) พบว่าสต๊อกน้ำมันดิบในสัปดาห์ที่แล้วเพิ่มขึ้นผิดคาดที่ 2.1 ล้านบาร์เรล เป็น 439.7 ล้านบาร์เรล สวนทางกับพวกนักวิเคราะห์คาดหมายว่าจะลดลง 4.5 ล้านบาร์เรล
ด้านตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในพุธ (21 ก.ค.) ปิดบวกแข็งแกร่งเป็นวันที่ 2 ติดต่อกัน ตามรายงานผลประกอบการรายไตรมาสของบริษัทต่างๆ หลังจากช่วงต้นสัปดาห์ดิ่งลงหนักจากความกังวลเกี่ยวกับการคืนชีพของโควิด-19 และอัตราเงินเฟ้อ
ดาวโจนส์ เพิ่มขึ้น 286.01 จุด (0.83 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 34,789.00 จุด เอสแอนด์พี เพิ่มขึ้น 35.63 จุด (0.82 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 4,358.69 จุด แนสแดค เพิ่มขึ้น 133.08 จุด (0.92 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 14,631.95 จุด
รายงานผลประกอบการไตรมาส 2 ที่สดใสของบริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งเป็นแรงหนุนสำคัญที่ทำให้วอลล์สตรีทดีดตัวขึ้นต่อเนื่อง หลังจากปิดบวกราว 1.5% ในวันอังคาร (20 ก.ค.) ฟื้นตัวจากดิ่งลงแรงเมื่อวันจันทร์ (19 ก.ค.) ซึ่งเป็นวันปิดลบหนักหน่วงที่สุดนับตั้งแต่เข้าสู่ปี 2021
ส่วนราคาทองคำในวันอังคาร (20 ก.ค.) ปิดลบแตะระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 2 สัปดาห์ จากการฟื้นตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ โดยราคาทองคำตลาดโคเม็กซ์งวดส่งมอบเดือนสิงหาคม ลดลง 8 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,803.40 ดอลลาร์ต่อออนซ์
More Stories
เฟดจ่อขึ้นดอกเบี้ยแรง 1% ในการประชุมเดือนนี้ หลังเงินเฟ้อสหรัฐสูงกว่าคาด
ดาวโจนส์ปิดลบ 164.31 จุด วิตกกำไรแบงก์สหรัฐชะลอตัว
หุ้นทวิตเตอร์ร่วงหนักถึง 6% หลัง “อีลอน มัสก์” ล้มดีลซื้อกิจการ